วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

การเป็นผู้ประกอบการ


ความเป็นมาและความหมายของความเป็นผู้ประกอบการ

แนวคิดของความเป็นผู้ประกอบการมีวิวัฒนาการมาจากแนวคิดและทฤษฎีของ 4 สาขาวิชา ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์และสังคมวิทยา จิตวิทยา และการจัดการ กล่าวคือ นักเศรษฐศาสตร์ศึกษาและพัฒนาแนวคิดของความเป็นผู้ประกอบการในแง่บทบาทของการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเป็นผู้ประกอบการจะเชื่อมโยงกับการก่อตั้งกิจการธุรกิจและการสร้างสรรค์กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ นักพฤติกรรมศาสตร์สนใจศึกษาคุณลักษณะและความเป็นผู้นำที่มีบารมีของผู้ประกอบการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และนักจิตวิทยาศึกษาบุคลิกภาพของผู้ประกอบการที่เป็นคนที่ชอบเสี่ยง และมีความต้องการที่จะประสบความสำเร็จ ความสามารถในการควบคุมและความมีอิสระในการตัดสินใจ นักวิชาการด้านการจัดการช่วยทำให้กระบวนการพัฒนาธุรกิจใหม่ให้มีกิจกรรมหรือขั้นตอนในการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ
ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ในหลายนิยามจะกล่าวถึงความหมายที่คล้ายคลึงกันว่า ความเป็นผู้ประกอบการ หมายถึง กระบวนการที่เริ่มต้นจาก
(1)การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ความคิดใหม่
(2)การรวบรวมทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต้องการ
(3)การยอมรับความเสี่ยงหรือความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น Ronstadt (1984: 28) กล่าวว่าความเป็นผู้ประกอบการหมายถึง กระบวนการที่ไม่หยุดนิ่งของการสร้างความมั่งคั่งให้เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการจะรับความเสี่ยงหลักที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องของเงินทุน เวลา และ/หรือความผูกพันในอาชีพในการที่จะสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่อาจเป็นสิ่งใหม่หรือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการใช้ทักษะและทรัพยากรที่มีอยู่
Timmons (1990: 5) กล่าวว่าความเป็นผู้ประกอบการ หมายถึง กระบวนการในการสร้างหรือแสวงหาโอกาสและดำเนินการให้เกิดขึ้น แม้อาจไม่สามารถควบคุมทรัพยากรที่ใช้ได้ทั้งหมด ความเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวข้องกับการให้ความหมายหรือแนวคิด การสร้างธุรกิจใหม่ และการกระจายผลประโยชน์และคุณค่าแก่บุคคล องค์การและสังคม
Hisrich และคณะ (2008: 8) ให้ความหมายของความเป็นผู้ประกอบการในมุมมองที่กว้างกว่าและครอบคลุมในหลายสาขาอาชีพ ว่าหมายถึงกระบวนการที่สรรค์สร้างสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าที่เกิดจากการอุทิศเวลาและความอุตสาหะ และรับความเสี่ยงทางการเงิน ทางจิตวิทยาและทางสังคมที่อาจเกิดขึ้น และรับผลรางวัลตอบแทนในรูปของเงิน ความพึงพอใจส่วนบุคคล และความมีอิสระทางความคิด
จากความหมายดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนขอสรุปว่า ความเป็นผู้ประกอบการ หมายถึงกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีคุณค่า  ซึ่งมีการจัดสรรทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อให้นวัตกรรมที่คิดขึ้นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการ และการได้รับผลตอบแทนจากการประกอบการ โดยยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ดังนั้น ความเป็นผู้ประกอบการมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
  • ความเป็นผู้ประกอบการเป็นกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีคุณค่า (Value creation) ต่อผู้ประกอบการเองและลูกค้าที่เป็นตลาดหรือกลุ่มเป้าหมาย
  • ความเป็นผู้ประกอบการต้องมีการจัดสรรทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่อย่างเหมาะสม มีความมุ่งมั่นตั้งใจ (Resources, time and effort) เพื่อให้แนวคิดหรือนวัตกรรมที่คิดขึ้นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการ
  • การได้รับผลตอบแทน (Reward) จากการประกอบการ ซึ่งเป็นทั้งผลตอบแทนในรูปของเงิน เช่น รายได้ หรือผลตอบแทนที่ไม่ใช่เงิน เช่น ความเป็นอิสระ ความความพึงพอใจในความสำเร็จ เป็นต้น
  • การรับความเสี่ยง (Risk) ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ และความไม่รู้อนาคต ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตัดสินใจที่มีเหตุมีผลที่สุดภายใต้ความไม่แน่นอนว่าโอกาสที่จะทำเกิดผลกำไรมีมากน้อยเพียงใด
จะเห็นได้ว่าความเป็นผู้ประกอบการเป็นความเป็นอิสระขององค์กรที่จะสร้างความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งขัน  อันจะทำให้เกิดลักษณะของสินค้าและบริการชนิดใหม่ หรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคมากขึ้น   ความเป็นผู้ประกอบการจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและตลาดในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นความแปลกใหม่และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ โปรแกรมสำเร็จรูป ยาและเคมีภัณฑ์ต่างๆ  รวมทั้งการบริการที่เป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ภัตตาคารจานด่วน McDonald’s ที่มีความเป็นผู้ประกอบการ เนื่องจาก McDonald’s ไม่ได้ประดิษฐ์อาหารใหม่เพราะร้านอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกาขายแฮมเบอรเกอร์มานานแล้ว แต่เป็นนำแนวคิดและเทคนิคทางการจัดการมาการประยุกต์ใช้ให้ผลิตภัณฑ์มีคุณค่ามากขึ้นแก่ผู้บริโภค เช่น การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์และทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต การออกแบบกระบวนการผลิตและอุปกรณ์ การฝึกอบรมพนักงานในขั้นตอนการทำงานตามมาตรฐาน ทำให้สามารถเพิ่มราคาและรายได้ และสร้างตลาดใหม่และลูกค้าใหม่ที่เห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์ (Drucker, 1985)
แนวคิดของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) มักเกิดความเข้าใจว่าเหมือนกับคำว่าการประกอบกิจการธุรกิจขนาดย่อม (Small business) แต่ในความเป็นจริงนั้นอาจมีความคล้ายคลึงกันแต่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากการประกอบกิจการธุรกิจขนาดย่อมเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีการบริหารงานที่เป็นอิสระ และมีแนวทางการบริหารเป็นของตัวเองที่มักมีขอบเขตการดำเนินงานในท้องถิ่น ซึ่งธุรกิจขนาดย่อมที่เพิ่งเริ่มต้นอาจนำแนวทางของความเป็นผู้ประกอบการมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เช่น การแสวงหาโอกาสและระบุตลาด แต่ความเป็นผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือนวัตกรรมเป็นสิ่งแรก ในขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในช่วงของการก่อตั้งธุรกิจเสมอไป การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่อาจเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจได้ดำเนินการไปแล้วระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี แนวคิดของการประกอบกิจการธุรกิจขนาดย่อมและความเป็นผู้ประกอบการสามารถนำมาปฏิบัติร่วมกันเกิดเป็นแนวคิดการจัดตั้งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมที่มีลักษณะเฉพาะตัวและมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่รองรับตลาดที่ตนเองมีความถนัดหรือเชี่ยวชาญได้ดี และสามารถตอบสนองตลาดที่อุปสงค์หรือความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองได้ดี (Drucker, 1985)

ความหมายของผู้ประกอบการ
ความเป็นผู้ประกอบการเป็นกระบวนการส่งเสริมหรือกระบวนการพัฒนาธุรกิจใหม่ (New Venture) ซึ่งประกอบด้วยหน้าที่และกิจกรรมที่จะมีส่วนเสริมสร้างการพิจารณาแสวงหาโอกาสทางการตลาดในธุรกิจใหม่ รวมถึงการสร้างองค์กรเพื่อที่จะนำโอกาสดังกล่าวมาใช้ให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ โดยบุคคลที่เป็นหัวใจของกระบวนการคือผู้ประกอบการ (Entrepreneur)
ในการให้คำจำกัดความของคำว่าผู้ประกอบการอาจแยกตามมุมมองของศาสตร์ที่แตกต่างกันได้ ดังนี้ (Hisrich และคณะ, 2008: 8)
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์  ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่นำทรัพยากร แรงงาน วัตถุดิบและสินทรัพย์อื่นๆ มารวมกันเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นบุคคลที่แนะนำการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมให้แก่องค์กร
ในมุมมองของนักจิตวิทยา  ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่มีแรงขับจากภายใน เช่น ความต้องการที่จะทดลอง ความต้องการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ความต้องการประสบความสำเร็จ หรือความต้องการหลีกหนีจากการอยู่ภายใต้อำนาจของผู้อื่น
ในมุมมองของนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่ทำงานเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองและผู้อื่น โดยการหาวิธีที่ดีที่สุดในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายหรือเกิดของเสียน้อยที่สุด และสร้างงานที่น่าสนใจแก่พนักงาน ซึ่งผู้ประกอบการจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับคู่แข่งขัน แต่จะเป็นพันธมิตรที่ดีกับผู้ผลิตวัตถุดิบและเป็นมิตรกับลูกค้า
ดังนั้น ผู้เขียนสรุปความหมายของคำว่าผู้ประกอบการว่าหมายถึง ผู้ที่ตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ โดยพิจารณาความเสี่ยงที่จะใช้ทรัพยากรและเวลาในการสร้างสรรค์และการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ควรมีคุณลักษณะที่สำคัญ 10 ประการ หรือที่เรียกว่าคุณลักษณะ 10 Ds (10 Ds Key Attributes of Entrepreneur) ประกอบด้วย Dream, Decisiveness, Doers, Determination, Dedication, Devotion, Details, Destiny, Dollars และ Distribute ดังนี้ (Bygrave and Zacharakis, 2010: 7)


คุณลักษณะ                 พฤติกรรม
Dream
ความฝัน                  ผู้ประกอบการต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลสำหรับประกอบการธุรกิจ และมีความฝันและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ที่จะนำพาไปสู่การพัฒนาในธุรกิจต่อไป
Decisiveness
ความกล้าตัดสินใจ    ผู้ประกอบการต้องมีความกล้าตัดสินใจ รวดเร็ว รวมทั้งมีวิจารณญาณที่แม่นยำ
Doers
การลงมือทำ             ภายหลังจากตัดสินใจอย่างเฉียบขาดแม่นยำ ผู้ประกอบการมีความสามารถในลงมือสั่งการและนำแผนงานไปปฏิบัติได้อย่างฉับไว
Determination
ความมุ่งมั่น              ผู้ประกอบการมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำธุรกิจให้สำเร็จ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน
Dedication
ความทุ่มเท               มีความทุ่มเทให้กับธุรกิจของตนได้อย่างเต็มที่ บางครั้งผู้ประกอบการอาจต้องสละความสุขสบายส่วนตัวเพื่อมาทุ่มเทเวลาและความพยายามให้กับการพัฒนาธุรกิจของตนตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วันต่อหนึ่งสัปดาห์
Devotion
การอุทิศตัว              ผู้ประกอบการต้องมีความรักชอบธุรกิจของตนเป็นการเฉพาะตัวในอันที่จะฟูมฟัก และทุ่มเทกายใจลงไปเพื่อสร้างผลงานของตนให้ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังและฝันไว้
Details
การใส่ใจในรายละเอียด  ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้ช่างสังเกต และใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนของการจัดตั้งธุรกิจใหม่
Destiny
โชคชะตา                 ผู้ประกอบการเป็นผู้ที่ไม่ย่อท้อหรือยอมแพ้ต่อโชคชะตา มีความคิดว่าตนเองเป็นผู้กุมชะตาชีวิตและธุรกิจของตนไว้ในมือตนเอง
Dollars
ผลตอบแทน             ผู้ประกอบการโดยทั่วไปมิได้คาดหวังในเรื่องผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดในการกระตุ้นจูงใจในการจัดตั้งธุรกิจ แต่เงินเป็นเพียงเครื่องวัดระดับความสำ เร็จของธุรกิจของตนมากกว่า
Distribute
การกระจายความรับผิดชอบ       ผู้ประกอบการควรต้องมีการกระจายความรับผิดชอบ และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมให้กับพนักงานที่มีความสามารถและความสำคัญกับธุรกิจของตน

กล่าวโดยสรุป ความเป็นผู้ประกอบการเป็นกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีคุณค่า  ซึ่งมีการจัดสรรทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อให้นวัตกรรมที่คิดขึ้นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการ และการได้รับผลตอบแทนจากการประกอบการ โดยยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยมีผู้ประกอบการเป็นผู้ที่ตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ โดยพิจารณาความเสี่ยงที่จะใช้ทรัพยากรและเวลาในการสร้างสรรค์และการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ เพื่อก่อให้เกิประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ ซึ่งจะคล้ายคลึงกับแนวคิดของการจัดการ (Management) ที่เป็นกระบวนการดำเนินการให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยมีผู้จัดการ (Manager) เป็นผู้ตัดสินใจดำเนินการจัดการให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้