วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

การเป็นผู้ประกอบการ


ความเป็นมาและความหมายของความเป็นผู้ประกอบการ

แนวคิดของความเป็นผู้ประกอบการมีวิวัฒนาการมาจากแนวคิดและทฤษฎีของ 4 สาขาวิชา ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์และสังคมวิทยา จิตวิทยา และการจัดการ กล่าวคือ นักเศรษฐศาสตร์ศึกษาและพัฒนาแนวคิดของความเป็นผู้ประกอบการในแง่บทบาทของการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเป็นผู้ประกอบการจะเชื่อมโยงกับการก่อตั้งกิจการธุรกิจและการสร้างสรรค์กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ นักพฤติกรรมศาสตร์สนใจศึกษาคุณลักษณะและความเป็นผู้นำที่มีบารมีของผู้ประกอบการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และนักจิตวิทยาศึกษาบุคลิกภาพของผู้ประกอบการที่เป็นคนที่ชอบเสี่ยง และมีความต้องการที่จะประสบความสำเร็จ ความสามารถในการควบคุมและความมีอิสระในการตัดสินใจ นักวิชาการด้านการจัดการช่วยทำให้กระบวนการพัฒนาธุรกิจใหม่ให้มีกิจกรรมหรือขั้นตอนในการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ
ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ในหลายนิยามจะกล่าวถึงความหมายที่คล้ายคลึงกันว่า ความเป็นผู้ประกอบการ หมายถึง กระบวนการที่เริ่มต้นจาก
(1)การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ความคิดใหม่
(2)การรวบรวมทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต้องการ
(3)การยอมรับความเสี่ยงหรือความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น Ronstadt (1984: 28) กล่าวว่าความเป็นผู้ประกอบการหมายถึง กระบวนการที่ไม่หยุดนิ่งของการสร้างความมั่งคั่งให้เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการจะรับความเสี่ยงหลักที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องของเงินทุน เวลา และ/หรือความผูกพันในอาชีพในการที่จะสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่อาจเป็นสิ่งใหม่หรือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการใช้ทักษะและทรัพยากรที่มีอยู่
Timmons (1990: 5) กล่าวว่าความเป็นผู้ประกอบการ หมายถึง กระบวนการในการสร้างหรือแสวงหาโอกาสและดำเนินการให้เกิดขึ้น แม้อาจไม่สามารถควบคุมทรัพยากรที่ใช้ได้ทั้งหมด ความเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวข้องกับการให้ความหมายหรือแนวคิด การสร้างธุรกิจใหม่ และการกระจายผลประโยชน์และคุณค่าแก่บุคคล องค์การและสังคม
Hisrich และคณะ (2008: 8) ให้ความหมายของความเป็นผู้ประกอบการในมุมมองที่กว้างกว่าและครอบคลุมในหลายสาขาอาชีพ ว่าหมายถึงกระบวนการที่สรรค์สร้างสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าที่เกิดจากการอุทิศเวลาและความอุตสาหะ และรับความเสี่ยงทางการเงิน ทางจิตวิทยาและทางสังคมที่อาจเกิดขึ้น และรับผลรางวัลตอบแทนในรูปของเงิน ความพึงพอใจส่วนบุคคล และความมีอิสระทางความคิด
จากความหมายดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนขอสรุปว่า ความเป็นผู้ประกอบการ หมายถึงกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีคุณค่า  ซึ่งมีการจัดสรรทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อให้นวัตกรรมที่คิดขึ้นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการ และการได้รับผลตอบแทนจากการประกอบการ โดยยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ดังนั้น ความเป็นผู้ประกอบการมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
  • ความเป็นผู้ประกอบการเป็นกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีคุณค่า (Value creation) ต่อผู้ประกอบการเองและลูกค้าที่เป็นตลาดหรือกลุ่มเป้าหมาย
  • ความเป็นผู้ประกอบการต้องมีการจัดสรรทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่อย่างเหมาะสม มีความมุ่งมั่นตั้งใจ (Resources, time and effort) เพื่อให้แนวคิดหรือนวัตกรรมที่คิดขึ้นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการ
  • การได้รับผลตอบแทน (Reward) จากการประกอบการ ซึ่งเป็นทั้งผลตอบแทนในรูปของเงิน เช่น รายได้ หรือผลตอบแทนที่ไม่ใช่เงิน เช่น ความเป็นอิสระ ความความพึงพอใจในความสำเร็จ เป็นต้น
  • การรับความเสี่ยง (Risk) ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ และความไม่รู้อนาคต ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตัดสินใจที่มีเหตุมีผลที่สุดภายใต้ความไม่แน่นอนว่าโอกาสที่จะทำเกิดผลกำไรมีมากน้อยเพียงใด
จะเห็นได้ว่าความเป็นผู้ประกอบการเป็นความเป็นอิสระขององค์กรที่จะสร้างความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งขัน  อันจะทำให้เกิดลักษณะของสินค้าและบริการชนิดใหม่ หรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคมากขึ้น   ความเป็นผู้ประกอบการจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและตลาดในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นความแปลกใหม่และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ โปรแกรมสำเร็จรูป ยาและเคมีภัณฑ์ต่างๆ  รวมทั้งการบริการที่เป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ภัตตาคารจานด่วน McDonald’s ที่มีความเป็นผู้ประกอบการ เนื่องจาก McDonald’s ไม่ได้ประดิษฐ์อาหารใหม่เพราะร้านอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกาขายแฮมเบอรเกอร์มานานแล้ว แต่เป็นนำแนวคิดและเทคนิคทางการจัดการมาการประยุกต์ใช้ให้ผลิตภัณฑ์มีคุณค่ามากขึ้นแก่ผู้บริโภค เช่น การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์และทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต การออกแบบกระบวนการผลิตและอุปกรณ์ การฝึกอบรมพนักงานในขั้นตอนการทำงานตามมาตรฐาน ทำให้สามารถเพิ่มราคาและรายได้ และสร้างตลาดใหม่และลูกค้าใหม่ที่เห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์ (Drucker, 1985)
แนวคิดของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) มักเกิดความเข้าใจว่าเหมือนกับคำว่าการประกอบกิจการธุรกิจขนาดย่อม (Small business) แต่ในความเป็นจริงนั้นอาจมีความคล้ายคลึงกันแต่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากการประกอบกิจการธุรกิจขนาดย่อมเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีการบริหารงานที่เป็นอิสระ และมีแนวทางการบริหารเป็นของตัวเองที่มักมีขอบเขตการดำเนินงานในท้องถิ่น ซึ่งธุรกิจขนาดย่อมที่เพิ่งเริ่มต้นอาจนำแนวทางของความเป็นผู้ประกอบการมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เช่น การแสวงหาโอกาสและระบุตลาด แต่ความเป็นผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือนวัตกรรมเป็นสิ่งแรก ในขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในช่วงของการก่อตั้งธุรกิจเสมอไป การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่อาจเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจได้ดำเนินการไปแล้วระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี แนวคิดของการประกอบกิจการธุรกิจขนาดย่อมและความเป็นผู้ประกอบการสามารถนำมาปฏิบัติร่วมกันเกิดเป็นแนวคิดการจัดตั้งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมที่มีลักษณะเฉพาะตัวและมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่รองรับตลาดที่ตนเองมีความถนัดหรือเชี่ยวชาญได้ดี และสามารถตอบสนองตลาดที่อุปสงค์หรือความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองได้ดี (Drucker, 1985)

ความหมายของผู้ประกอบการ
ความเป็นผู้ประกอบการเป็นกระบวนการส่งเสริมหรือกระบวนการพัฒนาธุรกิจใหม่ (New Venture) ซึ่งประกอบด้วยหน้าที่และกิจกรรมที่จะมีส่วนเสริมสร้างการพิจารณาแสวงหาโอกาสทางการตลาดในธุรกิจใหม่ รวมถึงการสร้างองค์กรเพื่อที่จะนำโอกาสดังกล่าวมาใช้ให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ โดยบุคคลที่เป็นหัวใจของกระบวนการคือผู้ประกอบการ (Entrepreneur)
ในการให้คำจำกัดความของคำว่าผู้ประกอบการอาจแยกตามมุมมองของศาสตร์ที่แตกต่างกันได้ ดังนี้ (Hisrich และคณะ, 2008: 8)
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์  ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่นำทรัพยากร แรงงาน วัตถุดิบและสินทรัพย์อื่นๆ มารวมกันเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นบุคคลที่แนะนำการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมให้แก่องค์กร
ในมุมมองของนักจิตวิทยา  ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่มีแรงขับจากภายใน เช่น ความต้องการที่จะทดลอง ความต้องการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ความต้องการประสบความสำเร็จ หรือความต้องการหลีกหนีจากการอยู่ภายใต้อำนาจของผู้อื่น
ในมุมมองของนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่ทำงานเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองและผู้อื่น โดยการหาวิธีที่ดีที่สุดในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายหรือเกิดของเสียน้อยที่สุด และสร้างงานที่น่าสนใจแก่พนักงาน ซึ่งผู้ประกอบการจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับคู่แข่งขัน แต่จะเป็นพันธมิตรที่ดีกับผู้ผลิตวัตถุดิบและเป็นมิตรกับลูกค้า
ดังนั้น ผู้เขียนสรุปความหมายของคำว่าผู้ประกอบการว่าหมายถึง ผู้ที่ตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ โดยพิจารณาความเสี่ยงที่จะใช้ทรัพยากรและเวลาในการสร้างสรรค์และการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ควรมีคุณลักษณะที่สำคัญ 10 ประการ หรือที่เรียกว่าคุณลักษณะ 10 Ds (10 Ds Key Attributes of Entrepreneur) ประกอบด้วย Dream, Decisiveness, Doers, Determination, Dedication, Devotion, Details, Destiny, Dollars และ Distribute ดังนี้ (Bygrave and Zacharakis, 2010: 7)


คุณลักษณะ                 พฤติกรรม
Dream
ความฝัน                  ผู้ประกอบการต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลสำหรับประกอบการธุรกิจ และมีความฝันและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ที่จะนำพาไปสู่การพัฒนาในธุรกิจต่อไป
Decisiveness
ความกล้าตัดสินใจ    ผู้ประกอบการต้องมีความกล้าตัดสินใจ รวดเร็ว รวมทั้งมีวิจารณญาณที่แม่นยำ
Doers
การลงมือทำ             ภายหลังจากตัดสินใจอย่างเฉียบขาดแม่นยำ ผู้ประกอบการมีความสามารถในลงมือสั่งการและนำแผนงานไปปฏิบัติได้อย่างฉับไว
Determination
ความมุ่งมั่น              ผู้ประกอบการมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำธุรกิจให้สำเร็จ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน
Dedication
ความทุ่มเท               มีความทุ่มเทให้กับธุรกิจของตนได้อย่างเต็มที่ บางครั้งผู้ประกอบการอาจต้องสละความสุขสบายส่วนตัวเพื่อมาทุ่มเทเวลาและความพยายามให้กับการพัฒนาธุรกิจของตนตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วันต่อหนึ่งสัปดาห์
Devotion
การอุทิศตัว              ผู้ประกอบการต้องมีความรักชอบธุรกิจของตนเป็นการเฉพาะตัวในอันที่จะฟูมฟัก และทุ่มเทกายใจลงไปเพื่อสร้างผลงานของตนให้ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังและฝันไว้
Details
การใส่ใจในรายละเอียด  ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้ช่างสังเกต และใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนของการจัดตั้งธุรกิจใหม่
Destiny
โชคชะตา                 ผู้ประกอบการเป็นผู้ที่ไม่ย่อท้อหรือยอมแพ้ต่อโชคชะตา มีความคิดว่าตนเองเป็นผู้กุมชะตาชีวิตและธุรกิจของตนไว้ในมือตนเอง
Dollars
ผลตอบแทน             ผู้ประกอบการโดยทั่วไปมิได้คาดหวังในเรื่องผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดในการกระตุ้นจูงใจในการจัดตั้งธุรกิจ แต่เงินเป็นเพียงเครื่องวัดระดับความสำ เร็จของธุรกิจของตนมากกว่า
Distribute
การกระจายความรับผิดชอบ       ผู้ประกอบการควรต้องมีการกระจายความรับผิดชอบ และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมให้กับพนักงานที่มีความสามารถและความสำคัญกับธุรกิจของตน

กล่าวโดยสรุป ความเป็นผู้ประกอบการเป็นกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีคุณค่า  ซึ่งมีการจัดสรรทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อให้นวัตกรรมที่คิดขึ้นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการ และการได้รับผลตอบแทนจากการประกอบการ โดยยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยมีผู้ประกอบการเป็นผู้ที่ตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ โดยพิจารณาความเสี่ยงที่จะใช้ทรัพยากรและเวลาในการสร้างสรรค์และการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ เพื่อก่อให้เกิประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ ซึ่งจะคล้ายคลึงกับแนวคิดของการจัดการ (Management) ที่เป็นกระบวนการดำเนินการให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยมีผู้จัดการ (Manager) เป็นผู้ตัดสินใจดำเนินการจัดการให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ใบงานที่ 1 ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์


ใบงานที่  1  ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์




   ชิิ้นที่ 1  เม้าส์  หรือ (Mouse )
                                                     
                                                                                         ชิ้นที่ 2 แฟลซไดร์ฟ (Flash Drive)


                                                                         
               
                                                                                                         ชิ้นที่ 3 สาย  (DATA link)






                                                     

                                                                    ชิ้นที่ 4 ไดรว์  (CD/DVD)



                                                               ชิ้นที่ 5 ครีบอดร์ (Keyboard)



                                                   
                                                                ชิ้นที่ 6 เคส (case)


                                                           ชิ้นที่ 7 จอแสดงผล (Monitor)




                                                              ชิ้นที่ 8 ลำโพง (
Speaker)




                                                           ชิ้นที่ 9 เครื่องปริ้น (Printer)




                                                         ชิ้นที่ 10 แผ่นรองเม้าส์ (Mouse pad)













                                                    

                                                                                                                

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2560

การประยุกต์หลักการจัดการในงานอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การประยุกต์หลักการจัดการในงานอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ast_01

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงให้แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยตลอดนานกว่า 30 ปี คือ ใช้จ่าย 3 ส่วน และเก็บออม 1 ส่วน ฉันและครอบครัวได้นำมาปฏิบัติทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ

การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ครอบครัวของฉันอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง ดังนี้
       1.พอมีพอกิน ปลูกพืชสวนครัวไว้กินเองบ้าง ปลูกไม้ผลไว้หลังบ้าน 2-3 ต้น พอที่จะมีไว้กินเองในครัวเรือน แบ่งให้เพื่อนบ้านบ้าง เหลือจึงขายไป
       2.พออยู่พอใช้ ทำให้บ้านน่าอยู่ ปราศจากสารเคมี กลิ่นเหม็น ใช้แต่ของที่เป็นธรรมชาติ รายจ่ายลดลง สุขภาพจะดีขึ้น (ประหยัดค่ารักษาพยาบาล) คุณพ่อของฉันและฉันมักเน้นเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้าและน้ำประปา ท่านให้พวกเราช่วยกันประหยัด ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือโรงเรียน ก็ควรปิดน้ำ ปิดไฟ เมื่อเลิกใช้งานทุกครั้ง
       3.พออกพอใจ เราต้องรู้จักพอ รู้จักประมาณตน ไม่ใคร่อยากใคร่มีเช่นผู้อื่น เพราะเราจะหลงติดกับวัตถุ ชีวิต โดยจะอยู่ในกิจกรรม “ออมวันนี้ เศรษฐีวันหน้า”
       4.เมื่อมีรายได้แต่ละเดือน จะแบ่งไว้ใช้จ่าย 3 ส่วน เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าจิปาถะ ที่ใช้ในครัวเรือน รวมทั้งค่าเสื้อผ้า เครื่องใช้บางอย่างที่ชำรุด เป็นต้น
        5.ฉันจะยึดความประหยัด ตัดทอนรายจ่ายในทุกๆ วันที่ไม่จำเป็น ลดละควาฟุ่มเฟือย
การปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
       - ยึดหลัก พออยู่ พอกิน พอใช้
       - ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่าย ลดความฟุ่มเฟือย ในการดำรงชีพ
“ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง”
       - ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้องและสุจริต
“ความเจริญของคนทั้งหลายย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบ และการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นสำคัญ”
       - ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันในการค้าขาย ประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
“ความสุขความเจริญอันแท้จริง หมายถึง ความสุข ความเจริญ ที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังจากผู้อื่น”
     - มุ่งเน้นหาข้าวหาปลา ก่อนมุ่งเน้นหาเงินหาทอง
     - ทำมาหากินก่อนทำมาค้าขาย
     - ภูมิปัญญาชาวบ้านและที่ดินทำกิน คือทุนทางสังคม
     - ตั้งสติที่มั่นคง ร่างกายที่แข็งแรงปัญญาที่เฉียบแหลม
ข้อเสนอแนะ
       เศรษฐกิจพอเพียงจะดำเนินไปได้ดี ด้วยการ ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนปฏิบัติตาม ที่ขอให้อย่าลืมที่จะปฏิบัติในเรื่อง ความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน ปฏิบัติตนเป็นคนดี ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายให้พอเพียง พอกิน และพอใช้ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
       ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนควรร่วมมือ ร่วมใจ กันปฏิบัติตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงตั้งแต่ยังเด็ก แล้วจะติดเป็นนิสัยความพอเพียงไปตลอดชีวิต สามารถนำไปพัฒนาตน พัฒนาประเทศชาติให้เจริญ ก้าวหน้า เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นคนดีของสังคม

การประยุกต์ปลูกฝังใช้เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน
                   เริ่มต้นจากการเสริมสร้างคนให้มีการเรียนรู้ วิชาการและทักษะต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ พร้อมทั้งเสริมสร้างคุณธรรม จนมีความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และอยู่ร่วมกับระบบนิเวศน์วิทยาอย่างสมดุล เพื่อจะได้มีความเกรงกลัวและละอายต่อการประพฤติผิดมิชอบ ไม่ตระหนี่ เป็นผู้ให้ เกื้อกูล แบ่งปัน มีสติยั้งคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจ หรือกระทำการใดๆ จนกระทั่งเกิดเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีในการดำรงชีวิต โดยสามารถคิดและกระทำบนพื้นฐานของความมีเหตุมีผล พอเหมาะ พอประมาณกับสถานภาพ บทบาทและหน้าที่ของแต่ละบุคคล ในแต่ละสถานการณ์ แล้วเพียรฝึกปฏิบัติเช่นนี้ จนตนสามารถทำตนให้เป็นพึ่งของตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ในที่สุด
เศรษฐกิจพื้นฐาน ประกอบด้วยลักษณะสำคัญคือ
•  เป็นเศรษฐกิจ   ของคนทั้งมวล
•  มีชุมชนที่เข้มแข็งเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ
•  มีความเป็นบูรณาการเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กันหมด ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ  สังคม สิ่งแวดล้อม และ วัฒนธรรม
•  เติบโตบนพื้นฐานที่เข้มแข็งของเราเอง เช่น ด้านเกษตร หัตถกรรม อุตสาหกรรม สมุนไพร อาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น
•  มีการจัดการที่ดีเป็นพื้นฐาน ส่งเสริมการเกิดนวัตกรรมต่าง ๆ ให้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาประเทศตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
การพัฒนาประเทศ มิได้มีแบบอย่างตายตัวตามตำรา หากแต่ต้องเป็นไปตามสภาพภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ สังคมวิทยา วัฒนธรรมชุมชน ที่มีความหลากหลาย ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัฒน์ ควบคู่ไปกับการพยายามหาแนวทางหรือวิธีการที่จะดำรงชีวิตตามหลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ดำเนินไปได้อย่างสมดุลและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในยุคโลกาภิวัฒน์ โดยอาศัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบที่ชุมชนอาจจะได้รับ ไม่ให้กระแสเหล่านั้นมาทำลายเอกลักษณ์และวัฒนธรรมชุมชนจนต้องล่มสลายไป
        จากแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางที่ให้ประชาชนดำเนินตามวิถีแห่งการดำรงชีพ
ที่สมบูรณ์ ศานติสุข โดยมีธรรมะเป็นเครื่องกำกับ และใจตนเป็นที่สำคัญ ซึ่งก็คือ วิถีชีวิตไทย ที่ยึดเส้นทางสายกลางของความพอดี ในหลักของการพึ่งพาตนเอง 5 ประการ คือ
•  ความพอดีด้านจิตใจ : เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีจิตสำนึกที่ดี เอื้ออาทร ประณีประนอม คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
•  ความพอดีด้านสังคม : มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน รู้จักผนึกกำลัง และที่สำคัญมีกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากฐานรากที่มั่นคงและแข็งแรง
•  ความพอดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : รู้จักใช้และจัดการอย่างฉลาดและรอบคอบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศให้มั่นคงเป็นขั้นเป็นตอนไป
•  ความพอดีด้านเทคโนโลยี : รู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับความต้องการและควร
พัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาชาวบ้านของเราเอง และสอดคล้องเป็นประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมของเราเอง
•  ความพอดีด้านเศรษฐกิจ : เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ดำรงชีวิตอย่างพอสมควร พออยู่ พอกินตามอัตภาพ และฐานะของตนเอง
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเริ่มจาก การสร้างพื้นฐาน ความพอกินพอใช้ ของประชาชนในชาติเป็นส่วนใหญ่ก่อน แล้วจึงค่อยเสริมสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจ . ตามลำดับ เพื่อจะได้เกิดสมดุลทางด้านต่าง ๆ หรือ เป็นการดำเนินการไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่ง โดยสร้างความพร้อมทางด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ที่ไม่ใช่เป็นการ “ ก้าวกระโดด ” ที่ต้องใช้ปัจจัยภายนอกต่าง ๆ มาเป็นตัวกระตุ้น เพียงเพื่อให้เกิดความทันกันในชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งในที่สุดประชาชนไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการและการแข่งขันดังกล่าวได้ ก็จะเกิดปัญหาตามมา ดังที่ประเทศไทยได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจ   เมื่อปี 2540

การนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการ

การนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการ
          กระบวนการจัดการความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน  กล่าวคือ  เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งที่เอื้อให้การจัดการความรู้ประสบความสำเร็จ  ประกอบกับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ต  ช่วยในการแสวงหาความรู้จากแหล่งใหม่ๆ  ทำให้เกิดการเข้าถึงความรู้  มีการจัดเก็บความรู้อย่างเป็นระบบ  นอกจากนี้การมีระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัยก็มีส่วนช่วยให้การจัดการความรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   โดยกระบวนการจัดการความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศในด้านการจัดการความรู้  มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 
1.  กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process) 
              เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรเข้าใจถึงขั้นตอนที่ทำให้เกิดกระบวนการจัดการความรู้ หรือพัฒนาการของความรู้ที่จะเกิดขึ้นภายในองค์กร   ซึ่งกระบวนการจัดการความรู้ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน  (บุญดี บุญญากิจ และคณะ 2549 ;  สุวรรณ เหรียญเสาวภาคย์ และคณะ, 2548)  ดังนี้
              1.1  การบ่งชี้ความรู้หรือการค้นหาความรู้ (Knowledge  Identification)  เป็นการพิจารณาว่าองค์กรมี วิสัยทัศน์/ พันธกิจ/ เป้าหมาย อะไร และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยจำเป็นต้องรู้ว่า  ขณะนี้เรามีความรู้อะไรบ้าง อยู่ในรูปแบบใด อยู่ที่ใครหรือการทำแผนที่ความรู้ (Knowledge Mapping) เพื่อหาว่าความรู้ใดมีความสำคัญสำหรับองค์กร แล้วจัดลำดับความสำคัญของความรู้เหล่านั้น เพื่อให้องค์กรวางขอบเขตของการจัดการความรู้และสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
              1.2  การสร้างและแสวงหาความรู้ (Knowledge Creation and Acquisition)  จากแผนที่ความรู้ องค์กรจะทราบว่ามีความรู้ที่จำเป็นที่ต้องการมีอยู่หรือไม่ ถ้ามีแล้วองค์กรก็จะต้องหาวิธีการในการดึงความรู้จากแหล่งต่างๆ ที่อาจอยู่กระจัดกระจายมารวมไว้เพื่อจัดทำเนื้อหาให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของผู้ใช้  ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขั้นตอนนี้ประสบความสาเร็จคือ บรรยากาศและวัฒนธรรมขององค์กรที่เอื้อให้บุคลากรกระตือรือร้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกัน อีกทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศก็มีส่วนช่วยให้บุคลากรสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสวงหาความรู้ใหม่ๆ จากภายนอกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
              1.3  การจัดความรู้ให้เป็นระบบ (Knowledge Organization) เป็นการวางโครงสร้างความรู้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเก็บความรู้อย่างเป็นระบบในอนาคต โดยองค์กรต้องจัดความรู้ให้เป็นระบบ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้
              1.4  การประมวลและกลั่นกรองความรู้ (Knowledge Codification and Refinement) องค์กรต้องประมวลความรู้ให้อยู่ในรูปแบบและภาษาที่เข้าใจและใช้ได้ง่าย  ใช้ภาษาเดียวกัน ปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์
              1.5  การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Access) องค์กรต้องมีวิธีการจัดเก็บและกระจายความรู้เพื่อให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ได้ สามารถเข้าถึงความรู้ที่ต้องการได้ง่ายและสะดวก เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) Web board บอร์ดประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
              1.6  การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้(Knowledge Sharing) ทำได้หลายวิธีการ โดยกรณีเป็น Explicit Knowledge อาจจัดทำเป็นเอกสาร ฐานความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือกรณีเป็น Tacit Knowledge อาจจัดทำเป็นระบบทีมข้ามสายงาน กิจกรรมกลุ่มคุณภาพและนวัตกรรม ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ระบบพี่เลี้ยง การสับเปลี่ยนงาน การยืมตัวบุคลากรมาช่วยงาน เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีผสมผสานเพื่อให้บุคลากรได้เลือกใช้วิธีการตามความถนัดและความสะดวก
              1.7  การเรียนรู้ (Learning) วัตถุประสงค์ที่สาคัญที่สุดในการจัดการความรู้คือการเรียนรู้ของบุคลากรและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาและปรับปรุงองค์กร การเรียนรู้ของบุคลากรจะทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ซึ่งจะไปเพิ่มพูนความรู้ขององค์กรที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้นเรื่อยๆ ความรู้เหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆ จนเป็นส่วนหนึ่งของงาน
2.  เทคโนโลยีสารสนเทศในด้านการจัดการความรู้
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที (Information and Communications Technology)  หมายถึง เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการนำระบบคอมพิวเตอร์ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในกระบวนการจัดหา จัดเก็บ สร้างและเผยแพร่สารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ  สำหรับในด้านการจัดการความรู้  เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งที่เอื้อให้การจัดการความรู้ประสบความสำเร็จ (สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, 2547)  ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้การแลกเปลี่ยนความรู้สามารถทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัยก็มีส่วนช่วยให้การจัดการความรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (น้ำทิพย์ วิภาวิน ,2547 ; สมชาย  นําประเสริฐชัย , 2549)  เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้นั้นประกอบด้วย
              2.1 เทคโนโลยีการสื่อสาร (Communication Technology) ช่วยให้บุคลากรสามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวมทั้งสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ค้นหาข้อมูลสารสนเทศและความรู้ที่ต้องการได้ผ่านทางเครือข่ายอินทราเน็ตหรืออินเทอร์เน็ตได้
              2.2  เทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานร่วมกัน (Collaboration Technology) ช่วยให้สามารถประสานการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในเรื่องของระยะทาง เช่น โปรแกรมการทำงานเป็นกลุ่มหรือกรุ๊ปแวร์ (Groupware) เป็นซอฟแวร์ที่ทำให้มีการทำงานร่วมกันเป็นทีมผ่านระบบเครือข่าย มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการประชุมร่วมกัน
              2.3  เทคโนโลยีในการจัดเก็บความรู้ (Storage Technology) ช่วยในการจัดเก็บและจัดการความรู้ต่างๆ เช่นระบบจัดการฐานข้อมูล  เหมืองข้อมูล (Data Mining) ที่เป็นการดึงข้อมูลจากแหล่ง จัดเก็บข้อมูลในคลังข้อมูล (Data Warehouse) มารวบรวมและแสดงผลในรูปแบบที่ใช้ประโยชน์ได้
              กล่าวโดยสรุป  กระบวนการจัดการความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้ในการจัดการความรู้ขององค์กรนั้นมีความสัมพันธ์กัน โดยเทคโนโลยีจะสนับสนุนกระบวนการต่างๆ ในการจัดการความรู้  เพื่อให้การดำเนินงานได้ประสิทธิผลมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้  ทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้  การนำเสนอ  การจัดเก็บและดูแลปรับปรุงความรู้ต่างๆ  รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในกระบวนการจัดการความรู้ด้วย

หลักการจัดการสมัยใหม่

การจัดการสมัยใหม่
แนวคิด ทฤษฎีกับการจัดคนให้เกิดงาน Work Force Management บทคัดย่อ ในโลกปัจจุบันนี้การจัดการธุรกิจ มีหลายๆภาคส่วนองค์กรให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรรัฐ องค์กรเอกชนหรือแม้กระทั่งองค์กรรัฐวิสาหกิจ และในแต่ละองค์กรก็ให้สารัตถะในการจัดการที่แตกต่างกันออกไป บางองค์กรมุ่งเน้นการจัดการที่ผลผลิตอย่างสุดโต้ง บางองค์กรมุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรบุคคลให้เป็นเลิศ หรือ บางองค์กรมุ่งเน้นรายได้เป็นหลักชัย แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกองค์กรต้องการจะเป็นเหมือนกันคือ การมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งทางธุรกิจ นั่นคือหัวใจหลักที่องค์กรต้องพิชิตให้ได้ อีกนัยหนึ่งองค์กรเปรียบเสมือนบอลลูนลูกใหญ่ที่มีสะสารภายในเป็นเสมือนระบบที่สนับสนุนให้บอลลูนสามารถลอยอยู่ได้หรือตกลงมาสู่พื้นดิน และสิ่งที่จะทำให้ระบบเป็นระบบได้นั่นก็คือ การจัดการระบบองค์กร จะกล่าวถึง ผู้ที่เป็นตำนานด้านการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) คนแรกคือ เฟรเดอริค วินสโลว์ เทย์เลอร์ ที่มีแนวคิดแบบคลาสลิคที่ให้ความสำคัญต่อปริมาณมากกว่าคุณภาพการผลิต ร่วมด้วยอองรี ฟาโยล์ ผู้ที่ให้นิยามเรื่องการจัดการกับพื้นฐาน 14 ข้อ
  1. แบ่งงานกันทำ
  2. อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ
  3. วินัย
  4. เอกภาพของการบังคับบัญชา
  5. เอกภาพของทิศทางในการทำงาน
  6. การเน้นผลประโยชน์ร่วมกันเหนือผลประโยชน์ส่วนบุคคล
  7. การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บุคคล
  8. การรวมศูนย์อำนาจ
  9. สายงานของอำนาจหน้าที่
  10. การจัดระเบียบ
  11. ความเสมอภาค
  12. ความมีเสถียรภาพของการจ้างงาน
  13. การริเริ่มสร้างสรรค์
  14. ขวัญและกำลังใจของบุคลากร
และแม็กซ์ เวเบอร์ การจัดการองค์กรเชิงบารมี และ จารีตประเพณีทั้งยังมี ซี นอร์ทโค้ต พาร์คินสัน ผู้ก่อตั้ง (Parkinson’s Law) อีกคน กับอีกหลายๆนักคิดและแนวคิดที่จะสังเคราะห์เป็นแนวคิดใหม่ได้ มีหลายตรรกะแนวความคิดที่เป็นรูปธรรม และหลายแนวคิดที่สอดคล้องกับการจัดการสมัยใหม่ อย่างเช่นแนวคิดของของอองรี ฟาโยล์ที่ให้ความสำคัญกับบุคคลากรทั้งในเรื่องระบบการทำงาน ระบบค่าตอบแทน ระบบสวัสดิการซึ่งแตกต่างกับเฟรเดอริคที่สนใจแต่เพียงการคิดค้นหาวิธีการเพิ่มศักยภาพการผลิตคล้ายกับเป็นการบริหารจัดการเชิงเผด็จการส่งผลทำให้บุคคลากรไม่ภักดีต่อองค์กรและเป็นการกดขี่ด้านความคิดแต่ได้รับความสำเร็จทางด้านธุรกิจ แม็กซ์ เวเบอร์ เจ้าของแนวคิดการจัดการองค์กรเชิงบารมี และ จารีตประเพณี แนวคิดนี้เหมาะสมกับธุรกิจ SME หรือธุรกิจครอบครัว ที่เน้นความเรียบง่ายให้ความนับถือผู้บริหารด้วยความอาวุโสมากกว่าความสามารถ คล้ายคลึงกับระบบราชการไทย เติบโตช้าแต่มั่นคง ถ้อยที่ถ้อยอาศัยไร้ความเด็ดขาด ซี นอร์ทโค้ต พาร์คินสัน ผู้ก่อตั้ง (Parkinson’s Law) ผู้ที่มีความเห็นคัดค้านกับเฟรเดอริค วินสโลว์ เทย์เลอร์ พาร์คินสันคืนความเป็นธรรมชาติของมนุษย์กับบุคลากร ให้ความสำคัญด้านขวัญกำลังใจคล้ายกับอองรี สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ยุคสมัยการจัดการที่เปลี่ยนไปทำให้แนวความคิดเปลี่ยนตาม อาจเป็นได้ว่าในยุคจักรกลของเฟรเดอริคมีการแข่งขันทางด้านการผลิตสูงจึงทำให้ผู้บริหารในสมัยนั้นมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตโดยละเลยองค์ประกอบอื่นๆ ลูอิส อัลเลนเจ้าของหนังสือ Professional Management ในปี 1973 ผู้ที่พยายามยกระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยกฎ 4 ประการ (POLC)
  1. Planning วางแผน
  2. Organizing จัดองค์กร
  3. Leading นำองค์กร
  4. Controlling ควบคุมงาน
โดยอาศัยพื้นฐานแนวคิดของเฟรเดอริค จากยุคเครื่องจักรกลสู่ยุคสารสนเทศ ความแตกต่างของสองยุคนี้คือวิวัฒนการด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สมัยยุคจักรกลการจัดการธุรกิจยังไม่มีความเป็นเอกภาพทางการทำงาน อำนาจทั้งหมดรวมอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับทั้งหลายล้วนเป็นสิ่งที่ผู้บริหารเป็นผู้ตัดสินใจ จึงส่งผลให้เกิดแนวความคิดด้านการจัดการใหม่ๆมากมาย บางแนวคิดใหม่ก็ได้จากการสังเคราะห์ต่อยอดแนวคิดเก่าหรือขัดแย้งกันแต่ผลที่ได้ก็คือจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการบรรลุผลทางธุรกิจสูงสุด ขอเกริ่นย้อนไปถึงยุคคาบเกี่ยวก่อนเข้าสู่ยุคสารสนเทศ เฮนรี่ มินต์ซเบิร์ก ผู้เขียน The Nation of Management Work ให้แนวคิดรวมถึงประเด็นหลักๆในการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรม ผู้จัดการต้องเป็นบุคคลที่เข้าถึงแก่นงานเป็นที่ไว้วางใจของพนักงาน มีความสามารถที่โดดเด่น แบ่งแยกความสำคัญของงานและวางหน้าที่งานกับบุคคลได้อย่างเหมาะสม ประสานองค์กรให้เป็นปึกแผ่น ลดการแตกแยกในด้านตำแหน่งงาน เราจักเห็นได้ว่าเมื่อคาบเกี่ยวเข้าที่นำไปสู่ยุคสารสนเทศทำให้การสื่อสารด้านการจัดการยืดหยุ่นขึ้น ให้ความสำคัญกับการสื่อสารภายในองค์กร ให้ความสำคัญต่อทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นทรัพยากรที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือบริการได้ และการควบคุมดูแลการเงิน อีกคนหนึ่งที่อยู่ระหว่างสองยุคคือ ปีเตอร์ เฟอร์ดินานด์ ดรัลเกอร์ ผู้เขียนหนังสือ The Practice of Management มีแนวคิดที่เกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลและองค์กรที่เน้นความรู้เป็นหลัก ปัจจัยหลักของแนวคิดนี้มาจาการการวางแนวโครงสร้างองค์กร แยกแยะหน้าที่ชัดเจน ให้บุคลากรใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ให้เครดิตผู้บริหารเป็นเสาเอกองค์กร โดยกำหนดหน้าที่การจัดการพื้นฐานไว้ POSDCoRB
  1. Planning การวางแผน
  2. Organizing การจัดองค์กรหรือการจัดระบบงาน
  3. Staffing การสรรหาและบรรจุแต่งตั้ง
  4. Co-ordinating การประสานงาน
  5. Reporting การรายงาน
  6. Budgeting การงบประมาณ
อย่างที่เรารู้จักกันดีแต่จะสังเกตุได้ว่าในแนวความคิดของเขาเน้นย้ำแต่องค์กรความรู้ KM Knowledge Management และ ทุนทางปัญญา Intellectural แต่ทั้งสองแนวคิดควรมีรากฐานมาจากมาตรฐานการสรรหาบุคคลกรเป็นพื้นสำคัญรวมถึงจริยธรรมพนักงาน และการตัดสินใจที่เด็ดขาดของผู้บริหาร ด้วยขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปความรู้ที่เกิดขึ้นในองค์กรก็ไม่มีความหมายเมื่อไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในองค์กร อีกประการหนึ่งการใช้ outsource เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมาก หลายๆองค์กรตัดการสูญเสียเวลาในการฝึกฝนบุคคลากรโดยการใช้ outsource แทน ความพร้อมเหล่านี้องค์กรต้องมีเพื่อจะก้าวผ่านไปเป็นองค์กรในโลกยุคใหม่ เฮนรี่ ฟอร์ด ผู้บริหาร เอ็ดเซล ฟอร์ด เจ้าของแนวคิดที่ประหลาดแต่แฝงความฉลาดและกล้าหาญอย่างเหลือเชื่อโดยยังมีกลิ่นอายการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ของ เฟอเดอร์ริคอยู่ มองโดยรวมแล้ว เฮนรี่มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ให้มีประสิทธิภาพในการผลิตใช้โมเดลการผลิตแบบเดียวกันทั้งรุ่น เครื่องยนต์ สี และ ออฟชั่นต่างๆ สิ่งที่ได้จากเฮนรี่คือความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นในแนวคิด วิเคราะห์ได้ว่าเขาพยายามตั้งกรอบการตลาดให้แคบ ให้ผู้บริโภคลดปัจจัยอิสระในการตัดสินใจซื้อ คล้ายกับว่าเขาเขียนอนาคตของผลิตภัณฑ์ของเขาเองได้ ส่วนข้อเสียในแนวคิดของเฮนรี่สิ่งที่น่ากลัวในการวิเคราะห์ตลาดคือ การจินตนาเชิงรูปธรรมมักมีผลที่แตกต่างออกไปจากที่คาดการณ์ไว้ การบังคับให้สภาพแวดล้อมทางการตลาดเปลี่ยนแปลงไปตามผลิตภัณฑ์ที่องค์กรนำเสนอเป็นเรื่องที่จองหองเกินไป ผลคือทำให้ฟอร์ดสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด ซ้ำแนวคิดของเฮนรี่ไม่ได้ช่วยเสริมเสถียรภาพในการทำงานให้พนักงาน พนักงานขาดดุลยภาพทางความคิดเพราะต้องทำงานหน้าที่ซ้ำๆเดิมไร้การเติบโต ขาดการพัฒนาในระบบการทำงาน ท้ายที่สุดก็เข้าสู่ยุคเสี่ยมถอยของการผลิตสินค้าจำนวนมากๆ ความเสี่ยมถอยของการจัดการองค์กรตามหน้าที่ เกิดจากการยกระดับความสำเร็จทางผลประกอบการมากเกินไปทำให้องค์กรประกอบสำคัญอื่นๆด้อยค่า เจฟฟรี่ เพฟเฟอร์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดให้นิยามความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์และ ภาวะผู้นำ ไว้สามประการ
  1. ผู้นำต้องเสริมสร้างความมั่นใจ
  2. ผู้นำต้องส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง
  3. ผู้นำต้องวัดผลการปฎิษัติงานในมิติต่างๆที่สำคัญ
สิ่งที่ควรจะมีเพิ่มเติม
  1. ผู้นำต้องมีทัศนะคติที่อิสระ
  2. ผู้นำต้องเป็นผู้นำไร้สูญญากาศ
  3. ผู้นำต้องเป็นผู้นำเชิงจริยธรรม
แล้วก็ก้าวเข้าสู่ตัว แบบใหม่ในการจัดองค์กร เป็นการนำเทคโนโลยีด้านสารสนเทศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทั้งในส่วนบริหารจัดการ และปฎิษัติการ เช่นแผนกบริการลูกค้าที่มีหน้าที่รับข้อมูลพร้อมทั้งให้ข้อมูลลูกค้า รวมถึงประเมิลผลองค์กรในด้านต่างๆ ที่ชัดเจนที่สุดคือการมอนิเตอร์ในระบบสินค้าคงคลัง จงอย่ามองว่าคลังสินค้าเป็นเพียงที่เก็บสินค้าเพราะนั่นคือกองเงินมหึมาที่เรายังไม่ได้แปรรูป มิติที่เห็นผลของการใช้สารสนเทศโดยรวมแล้วเพื่อลดขั้นตอนฟุ่มเฟื่อยในองค์กร ทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ ระบบการจัดการ และ เทคโนโลยี เป็นปัจจัยที่มีความต้องการในการขับเคลื่อนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในเชิงการแข่งขัน ความสำเร็จจะเกิดขี้นได้จากการใช้หลายๆกลยุทธ์ในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มพูลผลผลิต ทั้งรวมถึงมาตรฐานการผลิต เครื่องจักร และ การปรับปรุงกระบวนการจัดการทางธุรกิจ ดังนั้น การรู้จักพัฒนาวิธีตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปตามธรรมชาติของธุรกิจจึงต้องมีความยืดหยุ่นและรวดเร็ว แต่กระนั้นเลยระบบสารสนเทศถ้าเรามองให้ลึก อาจจะเห็นมิติที่แตกต่างออกไป ผู้บริหารส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญระบบสารสนเทศในเรื่องการลดต้นทุนทางทรัพยากรเป็นสำคัญทั้งที่จริงแล้วการใช้สารสนเทศเป็นตัวสื่อสารระหว่างในองค์กรและนอกองค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญจะเห็นภาพได้ชัดเจนว่า เมื่อองค์กร, ทรัพยากรบุคคล, วัตถุดิบ, ทุน, ความรู้พร้อม องค์กรต้องเสริมความแกร่งด้วยการวางกลยุทธ์และยุทธวิธี หลายท่านอาจสับสนถึงความแตกต่างของ กลยุทธ์และยุทธวิธี เปรียบง่ายๆเช่นกลยุทธ์เป็นแนวทางหลักใช้เวลาในไตร่ตรองเตรียมการแต่ยุทธวิธีคือแนวทางที่ไว้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่คาดหวังผลเหมือนกัน การวางกลยุทธ์ที่ดีนั้นต้องอาศัยการจัดการกลยุทธ์เข้ามาช่วย เพื่อกำหนดขีดความสามารถขององค์กร ตั้งแต่ วินิจฉัยตลาดหาช่องว่างทางการตลาด, ค้นหาเครื่องมือกีดกันการเข้าถึงของคู่แข่งรายใหม่รวมถึงวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์คู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด,กำหนดต้นทุนและความเสี่ยง, วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับช่องว่างของตลาด,ทดสอบความพร้อมผลิตภัณฑ์, เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและระบบประเมิลผลให้ชัดเจน ต้องพึงสังวรณ์ไว้ว่า บางครั้งกลยุทธ์ที่เลิศหรูกับการปฎิบัตินั้นไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ทางที่เหมาะสมที่สุด คิดในสิ่งที่ทำได้และได้ทำในสิ่งที่คิดดีกว่า จงคิดให้อยู่ในกรอบวงกลมสามวงจะเป็นหนทางสู่ความสำเร็จอย่างรอบคอบ
  1. ทำในสิ่งที่คุณทำได้ดีที่สุดในโลก
  2. สิ่งที่คุณรักที่จะทำ และ
  3. สิ่งที่ขับเคลี่ยนเครื่องจักรเศรษฐกิจของคุณ
ที่มา: จากหนังสือ Good to Great หน้า135 และนี้คืออีกจุดหนึ่งที่ชัดเจนระหว่างแนวคิดแบบคลาสสิกที่เน้นการผลิตกับแนวความคิดแบบนีโอคลาสสิกที่เน้นกลยุทธ์นั่นต่างกันอย่างไร ในยุคปี60 บรู๊ซ เฮนเดอร์สันกับความนิยมของ บอสตันแมทริกซ์ (Boston Matrix) เครื่องมือที่ใช้วัดความเติบโตของตลาดและส่วนแบ่งทางการตลาด Growth-Share Matrix หรือ BCG Matrix (บ้างเรียก BCG Model) เป็นเครื่องมือที่เข้าใจง่าย ใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อบอกสถานะของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ว่าเป็นอย่างไร โดยใช้ตัวแปรหลัก 2 ตัว คือ อัตราการเจริญเติบโต (growth) กับส่วนแบ่งตลาด (market share) ซึ่งทำให้การการตลาดในยุคสมัยนั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น กับอีกหนึ่งนักคิด ไมเคิล อี. พอร์เตอร์กับกลยุทธ์กับความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ตีกรอบแนวความคิด ด้วยเรื่องของลูกค้า ซัพพลายเออร์ สินค้าทดแทน คู่แข่ง คู่แข่งรายใหม่แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างนี้ที่ไม่ได้เขียนคือ ทรัพยากรบุคคลในองค์กรเป็นสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญที่สุด ดังที่ แมรี่ พาร์เกอร์ โฟลเลตต์ นักรัฐศาสตร์ชาวเยอรมัน เธอให้ความเห็นว่า”ผู้จัดการต้องรับผิดชอบต่อการบรูณาการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญต่างๆให้มาทำงานประสานกัน” เป็นการตอกย้ำความขัดแย้งกับมุมมองของเฟรเดอริคและไมเคิล ที่มองบุคลากรเป็นเพียงคนที่ทำตามคำสั่ง แต่ แมรี่มองว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่เน้น”คนมาก่อน ทำอะไร” ความคิดสองความคิดนี้ แบ่งความชัดเจนทางคุณค่าพอสมควร อาจจะด้วยกลไกของธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่ง ส่งผลกระทบให้เกิดมุมมองใหม่ๆหลายอย่าง การใช้ทักษะของทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นทรัพยากรองค์กรนั่นใช้เพื่อเป็นตัวกีกกันและทำลายขวัญและกำลังใจคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิผล ไม่ว่าจะเป็น เอลตัน เมโย นักวิจัยชาวออสเตรเลีย ผู้เริ่มต้นทำการศึกษา “การศึกษาที่ฮอว์ธอร์น” ดักลาส แม็คเกรเกอร์ นักจิตวิทยาสังคม กับผลงาน ทฤษฎี xและ ทฤษฎี Y ฮับราฮัม มาสโลว์ ผู้ก่อตั้งทฤษฎี พีรามิดลำดับขั้นของความต้องการ รวมทั้ง เฟรเดอริค เฮิร์ซเบิร์ก นักจิตวิทยาคลีนิค ล้วนแล้วแต่มีเจตนคติต่อทรัพยากรมนุษย์ในทิศทางคล้ายกัน มุ่งมั่นในการบริหารจัดการที่สอดรับกับสภาพแวดล้อมองค์กร บำรุงรักษาแรงจูงใจในทรัพยากรมนุษย์สม่ำเสมอ เอื้อเฟื้อกำลังใจให้กันและกันในองค์กร ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นส่วนๆหนึ่งที่ทำให้องค์กรมีชีวิต ทอม ปีเตอร์ส ปรมาจารย์ด้านการจัดการในยุคร่วมสมัยที่โดดเด่นอีกคนหนึ่ง เขาเป็นผู้หนึ่งที่ให้การสนับสนุนความสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับโรเบิร์ต วอเทอร์แมนผู้ร่วมกันเขียนหนังสือขายดีชื่อ In Search of Excellence คิดกรอบแนวคิด 7sให้กับบริษัทที่ปรึกษาแม็คคินซีย์ โดยขอร่วมมือจาก ริชาร์ด ปาสกาลและแอนโทนี่เป็นผู้ให้ความเห็น ในท้ายสุดจากการลองผิดลองถูก ได้มาเป็น7s แต่เมื่อนำมาแทบกับ Five Forces Model ของ ไมเคิล อี. พอร์เตอร์แล้วจะพบว่าแม่แบบของไมเคิล นั้นเป็นเชิงวิเคราะห์และมีความเป็นวิชาการมากกว่า 7s 7s สังเคราห์ออกมาเป็น
  1. System ระบบ
  2. Strategy กลยุทธ์
  3. Structure โครงสร้าง
  4. Style รูปแบบ
  5. Skill ทักษะ
  6. Shared Values ค่านิยมร่วม
  7. Staff บุคลากร
แต่การให้มุมมองเพียงแต่บุคคลากรไม่ใช่คำตอบที่สวยหรูที่สุดของการจัดการองค์กรต้องร่วมการรู้จักเอื้ออำนาจในทางปฎิษัติงาน การเอื้ออำนาจความรับผิดชอบรวมทั้งการประเมิลผล 360 องศา การรู้จักเอื้ออำนาจในทางปฎิษัติงานก็ดี คือการลดระดับการเหลื่อมล้ำทางตำแหน่ง เปลี่ยนเปลงบุพบทองค์การ พนังงานทุกระดับชั้นต้องสนับสนุนองค์ประกอบของงานด้วยตัวเอง เช่น ถ่ายเอกสาร ส่งแฟ็ก จดรายงานการประชุมด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ชงกาแฟดื่มเอง และให้อิสระในการแต่งกายมาทำงาน และให้สิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องของเงินเดือน ระเบียบวินัย และการประเมิลตนเองนั่นก็คือนิยามย่อยๆของการรู้จักเอื้ออำนาจในทางปฎิษัติงาน การเอื้ออำนาจความรับผิดชอบคือการแบ่งอำนาจหน้าที่จากผู้บริหารสู่พนักงานให้มีส่วนร่วมในวาระของงานมากขึ้นโดยไม่ลดอำนาจของผู้บริหาร พร้อมทั้งหนุนนำแนวความคิดที่มีมิติให้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ๆต่อองค์กร สุดท้ายการประเมิลผล 360 องศานั้นเป็นส่วนเพิ่มเติมความสมบรูณ์ต่อปัจเจกองค์กร การประเมิลผลนั้นเป็นระเบียบที่แต่ละองค์กรกำหนดขึ้น บางองค์กรวัดจากผลประกอบการ วัดจากลูกค้า วัดจากการหน่วยผลิต วัดจากต้นทุน วัดจากประสิทธิภาพพนักงานโดยจากทักษะและความรู้ในงานถ้าให้เข้าใจง่ายๆการประเมิลผล 360องศาคือการประเมิลผลในทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการขับเคลี่อนองค์กรผู้เขียนมีความขัดแย้งต่อหลายๆแนวคิด เหตุผลใดบุคคลากรมักชอบถูกมองว่ามีบทบาทน้อยในองค์กรทั้งที่บุคคลากรหนึ่งสามารถสวมบทบาทเป็นผู้ผลิต เป็นผู้ขาย เป็นผู้ซื้อก็ได้ เป็นนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือเป็นนักวิจารณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ก็ได้ (word by word) การได้เปรียบเชิงการแข่งขันนั้นเป็นที่ต้องการขององค์กรทั่วไปที่จะใช้ในการเหนือนำคู่แข่งและลดอำนาจซัพพลายเออร์ ทั้งยังต้องจำแนกกลยุทธ์การขายให้ชัดเจนว่าต้องการขายใคร? ขายที่ใหน? ขายเท่าไร? ขายอย่างไร? คนอื่นขายเหมือนเราใหม? พอขายแล้ว ดูว่าคนซื้อเป็นใคร? ซื้อแล้วรู้สึกอย่างไร? ซื้อแล้วมีโอกาสซื้อซ้ำหรื่อเปล่า? ซื้อแล้วได้ใช้ประโยชน์หรื่อเปล่า? ใช้แล้วคิดอย่างไรบ้าง? พอใจหรือไม่พอใจ? ใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นสมรรถนะหลักขององค์กร (Core Competencies) ในการขับเคลื่อน โดยที่ตัวองค์กรเองต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนากลยุทธ์ซึ่งเรียกว่า นวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ นวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ แตกต่างจาก Reengineering ตรงที่ นวัตกรรมเชิงกลยุทธ์เป็นเพียงแค่การปรับเปลี่ยนจุดเล็กน้อยในองค์กรเท่านั้นไม่มากมายเหมือน Reengineering ทั้งนี้ก็พร้อมที่ก้าวเข้าสู่เป้าประสงค์ขององค์กร องค์กรต้องกำหนดพันธกิจให้ชัดเจนรู้ว่าเป้าประสงค์คืออะไร แล้วก็ถึงเวลาในการวัดผล ในปัจจุบันนี้มีเครื่องมือหลากหลายชนิดที่ใช้ในการวัดผล เช่น Balanced Scorecard เป็นเครื่องที่วัดได้หลายมิติทางด้านการเงิน, การตลาด, นวัตกรรมผลิตภัณฑ์, ลูกค้า แต่สิ่งที่องค์กรต้องพึงระลึกไม่ใช่แค่เพียงการวัดผลให้ได้ผลเท่านั้น ทั้งหมดทั้งมวลผู้เขียนได้พรรณาถึง การจัดการองค์กรในหลายๆมิติที่เน้นในเรื่องของการผลิต บุคลากร ผลิตภัณฑ์ และการตลาด แต่สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้คือ ผู้บริหาร ผู้บริหารมักถูกวาดภาพว่าเป็นผู้ที่บรรลุแล้วถึงหลักในการบริหารนั่นเป็นการเข้าใจที่คาดเคลี่อน มีความถูกต้องเป็นบางส่วนว่าผู้บริหารต้องเป็นผู้มีภูมิปัญญา ทักษะทางสังคม วาจาน่าเคารพ แต่ในหลักการการบริหารธุรกิจที่รอบคอบการบริหารจัดการผู้ที่มีความสามารถสูงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทั้งในด้านเทคโนโลยี การจัดองค์กร ปัจเจกบุคคล สังคม ผู้บริโภคและตลาด สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบซึ่งกันและกันเอง ผู้บริหารต้องเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและคงสภาพองค์กรไว้ให้ได้ จัดการผู้ที่มีความสามารถสูงมีไว้เพื่อให้ผู้บริหารตื่นตัว รู้จักพัฒนาการตัดสินคุณค่าระหว่างเสริมสร้างให้ผู้ใต้บังคับบัญชายึดถือยึดมั่นต่อหน้าที่และเป้าหมายขององค์กรเน้นการทำงานเป็นทีมมากกว่าการทำงานเดี่ยว รู้จักจัดการกับอารมณ์และความเครียด พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และตนเอง มากกว่าการมุ่งเน้นการควบคุม องค์กรที่รับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ถึงแม้องค์กรยังสามารถดำรงอยู่ได้แต่ก็ไร้การพัฒนาเสถียรภาพจากเนื้อความข้างต้นผู้เขียนกระเทอะความคิดได้ว่าสิ่งที่ผู้บริหารควรจัดการตัวเองคือ
  1. จัดความพร้อมด้านความรู้ ไม่ยี่หระในการถ่ายทอดสู่ผู้ใต้บังคับบัญชา
  2. จัดความพร้อมเรื่องส่วนตัวกับงานให้แยกอย่างชัดเจน ไม่เลือกปฏิษัติ
  3. จัดความพร้อมด้านมาตรฐานการบริหาร ไม่ปฎิษัติแบบสองมาตรฐาน
  4. จัดการตัดความคิดแบ่งไพร่ แบ่งอำมตย์ออกจากองค์กร
  5. จัดความพร้อมทางทักษะ ผู้บริหารเองต้องไม่หยุดนิ่งในการเพิ่มพูนทักษะ เสริมความชำนาญ
  6. จัดความพร้อมทางการเงิน
เท่านี้องค์กรก็จะเป็นองค์กรที่สมบรูณ์ทั้งระบบ คน ของ เงิน ตลาด ที่เหลือก็คงเป็นองค์ประกอบร่วมขององค์กรคือ จริยธรรม ศีลธรรม มานะ อุตสาหะ ซื่อสัตย์ ที่จะทำให้องค์กรเป็นองค์กร สาระสำคัญของการจัดการก็คือต้องวัดผลได้ เพราะการวัดผลสื่อได้ถึงกลยุทธ์ กลยุทธ์สื่อได้ถึงระบบ ระบบสื่อได้ถึงการจัดการ สิ่งที่ผู้เขียนพยายามสื่อสารออกมาเป็นภาษาง่ายเปรียบเปรยเช่นการจัดการก็เหมือนนิ้วมือมนุษย์สั้นยาวไม่เท่ากันก็จริงแต่มีความสำคัญกับมนุษย์เท่ากันทุกนิ้ว เหมือนกับระบบในองค์กรไม่มีฝ่ายใหนสำคัญกว่าฝ่ายใหน แนวคิดของนักคิดหลายท่านๆมีจุดประสงค์องค์รวมเหมือนกันหมดแต่ต่างที่การให้ความสำคัญแต่ละภาคส่วน บางท่านให้ความสำคัญกับบุคคลากร บางท่านก็ให้ความสำคัญกับการผลิต การตลาด หรือการวัดผล ซึ่งผู้เขียนมองเป็นการดึงความสามารถที่โดดเด่นของแต่ละภาคส่วนออกมา กระนั้นผู้เขียนได้กำหนดการจัดการขั้นพื้นฐานในมุมมองของผู้เขียน ผู้เขียนมองว่า การจัดการองค์กรคือ
  1. การสัมผัสปัญหาและยอมรับกับสถานกราณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ยึดติดกับอีโก้หรือเงื่อนเหตุใดๆ
  2. หาคนที่เหมาะสมมาบรรเทาปัญหา
  3. ประมวลปัญหาแยกระหว่างปัญหาหลักกับปัญหารอง
  4. แยกหมวดหมู่ของปัญหา ปัญหาหลักใครแก้ ปัญหารองใครแก้ แล้วดำเนินการแก้ไขในเวลาเดียวกันอย่าสนใจแต่ปัญหาหลัก ถ้าปล่อยไว้ในอนาคตปัญหารองจะกลายเป็นปัญหาหลักได้
  5. ผลของการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร อะไรที่ในองค์กรควรตัดหรือเพิ่ม ทำออกมาให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
  6. นำผลที่ได้มาประยุกต์ใช้กับการจัดการองค์กร ถ้าปรับเข้ากับรูปแบบองค์กรได้โดยไม่เสียสมดุลย์ภาพก็ปรับใช้ แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงพัฒนาให้ออกมาเป็นองค์กรเชิงการจัดการสมัยใหม่